ประวัติของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน

นำเสนอโดย...โสภณ จาเลิศ

          เนื่องจาก ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นนักร้อง นักดนตรีที่ผมชื่นชอบมาก พอดีได้ไปพบประวัติของท่าน ซึ่งเขียนโดย รศ.ดร. คุณหญิง
วินิดา ดิถียนต์ ที่ URL นี้ https://pantip.com/topic/33133559 จึงใคร่ขออนุญาตนำข้อมูลและภาพ มานำเสนอทางเว็บไซต์นี้ครับ ขอขอบคุณ
รศ.ดร. คุณหญิง วินิดา ดิถียนต์ ไว้ ณ ที่นี้ ครับ

ประวัติของ ครูเอื้อ สุนทรสนาน

            อัจฉริยบุคคลทางดนตรีผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 เป็นชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่ออายุได้ 7 ปี ก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้พี่ชายซึ่งรับราชการอยู่ในกรมมหรสพ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดระฆังโฆษิตารามแล้ว ได้ศึกษาทางด้านดนตรีที่
โรงเรียนพรานหลวง ณ สวนมิสกวัน พระเจนดุริยางค์ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเป็นครูคนแรกที่เห็นพรสวรรค์ด้านฝีมือเล่นดนตรีของเด็กชาย จึงให้หัด
เล่นไวโอลิน

          เมื่ออายุ 14 ปี ครูเอื้อ ก็ได้เป็นนักดนตรีอายุน้อยที่สุดของกองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" ต่อมาได้เลื่ิอนยศขึ้นไปเล่นวงใหญ่ เมื่ออายุ 16 ปี ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป

          เมื่อครูเอื้ออายุ 22 ปี ได้โอนไปรับราชการ สังกัดกรมศิลปากรในสังกัดกองมหรสพ ในช่วงนี้ที่พรสวรรค์ทางด้านประพันธ์เพลง เริ่มฉายแววให้เห็นขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง จากการแต่งทำนองเพลงแรก ชื่อ "ยอดตองต้องลม"ให้คณะละครร้องของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน มีเฉลิม บุณยเกียรติ เป็นคนแต่งคำร้อง

          นอกจากนี้ ท่านได้ขับร้องเพลงแรกคือ "นาฏนารึ" คู่กับนางสาววาสนา ละออ เสียงของครูเอื้อไพเราะมากจนได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงพระเอกภาพยนตร์เรื่อง "ถ่านไฟเก่า" ของบริษัทไทยฟิลม์ ที่ก่อตั้งโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค

          ชื่อเสียงที่โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ครูเอื้อตั้งวงดนตรีขึ้นคือวง "ไทยฟิลม์" ตามชื่อบริษัทภาพยนตร์ แต่ว่าก่อตั้งได้เพียงปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิลม์ที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิลม์ก็พลอยสลายตัวไปด้วย

          จากนั้นไปอีก 1 ปี ทางราชการตั้งกรมโฆษณาการ เผยแพร่ผลงานของรัฐบาลทางวิทยุกระจายเสียง มีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศเห็นว่าควรมีวงดนตรีประจำในกรมฯ จึงปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ คุณหลวงก็แนะนำให้โอนครูเอื้อจากกรมศิลปากรมาประจำอยู่กรมฯ เป็นหัวหน้าวงดนตรีของกรมฯ ครูเอื้อจึงได้เป็นข้าราชการของกรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนเกษียณราชการในปี พ.ศ.2513 ในตำแหน่งหัวหน่าแผนกบันเทิงต่างประเทศ ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี

          เมื่อหมดภาระหน้าที่ราชการ ครูเอื้อได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2516 ด้วยพื้นฐานทางดนตรี ทั้งไทยเดิมและไทยสากล ทำให้ครูเอื้อผสมผสานเส้นทางดนตรีทั้งสองแบบขึ้นมา มีจุดพบกึ่งกลางที่ดนตรีแบบไทยสากล คือมีการเรียบเรียงเสียงประสานและจังหวะลีลาศแบบสากล แต่ก็มีเนื้อร้องและวิธีการร้องแบบไทย เช่น การเอื้อนเสียงในการร้อง

          นอกจากนี้ครูเอื้อดัดแปลงท่วงทำนองเพลงไทยเดิมให้เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ เล่นด้วยเครื่องดนตรีสากลและร้องตามแบบสากลได้อย่าง
เหมาะสมกลมกลืน จนเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว เพลงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งชื่ิอให้มีเค้าเดิมของที่มา เช่นเพลง "พรพรหม" ดัดแปลงจาก "แขกมอญบางขุนพรหม" "เสี่ยงเทียน" ดัดแปลงจาก "ลาวเสี่ยงเทียน" "ทะเลบ้า" ดัดแปลงจาก "ทะเลบ้า สองชั้น"

          ด้วยฝีมือและพรสวรรค์ดังที่กล่าวมา ครูเอื้อจึงได้ก่อตั้งวงดนตรีส่วนตัว เพื่อบรรเลงเพลงไทยสากลตามแบบที่ถนัด ในสถานที่ต่างๆ นอกเวลาราชการ ตั้งชื่อว่า "สุนทราภรณ์" โดยนำนามสกุล "สุนทรสนาน" มารวมกับชื่อ "อาภรณ์" ซึ่งเป็นชื่อของธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง คือคุณอาภรณ์ กรรณสูต สุภาพสตรีผู้ซึ่งต่อมาได้สมรสกับครูเอื้อ ทั้งสองมีธิดาด้วยกันคนเดียวคือ คุณอติพร (สุนทรสนาน) สมรสกับพลตำรวจโทสันติ เสนะวงค์ มีธิดา 2 คน คือวราภรณ์ และ อรอนงค์

          ชื่อเสียงของครูเอื้อขจรขจายควบคู่มากับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2482 ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษที่น่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นได้ทั้งคีตศิลปินสร้างสรรค์ผลงานเพลง และสร้างนักร้องหน้าใหม่ทั้งชายและหญิง
ได้ขับร้องเป็นดาวเสียงประดับฟ้าไทยจำนวนมากมาย หลายรุ่นด้วยกัน แต่ละคนได้ร้องเพลงตามแนวที่ตัวเองถนัดจนประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงและเพลงประจำตัวที่เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ เช่น มัณฑนา โมรากุล วินัย จุลบุษปะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ ศรีสุดา รัชตวรรณ เลิศ ประสมทรัพย์ สมศักดิ์ เทพานนท์ รวงทอง ทองลั่นทม ศิลปินแห่งชาติ และบุษยา รังสี

          นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมงานกับนักแต่งเพลงที่มีฝีมือเลิศอีกเป็นจำนวนมากเช่น ครูแก้ว อัจฉริยกุล สุรัฐ พุกกะเวส "ธาตรี" ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ สร้างผลงานเพลงที่ยั่งยืนทั้งในรูปของละครเพลง เช่น จุฬาตรีคูณ กามนิต-วาสิฏฐี และเพลงไทยสากลเป็นจำนวนกว่าสองพันเพลง
ตลอดชีวิตการทำงานของครูเอื้อ

          นอกเหนือจากความรักในเพลง สิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจให้ทำงานได้อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 ที่ครูเอื้อได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเหรียญรูปเสมาทองที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 วงดนตรีสุนทราภรณ

           ตลอดระยะเวลา 42 ปี ครูเอื้อทำงานทั้งงานราชการ งานประพันธ์เพลงติดต่อกัน และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในฐานะหัวหน้าวงดนตรี โดยไม่เคยหยุดพักผ่อนเลย ปกติครูเอื้อเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยล้มหมอนนอนเสื่อ และไม่มีโรคประตัว จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ.2521 เริ่มป่วย แพทย์ได้เอ็กซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เเข้ารับการรักษา แต่ครูเอื้อก็ยังทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ.2522 มีอาการทรุดลง จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ ระหว่างที่ป่วยอยู่นั้นครูเอื้อได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมถึง 2 ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

           ในช่วงปี พ.ศ.2523 ครูเอื้อได้เดินทางพร้อมนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการไปเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้มีโอกาสขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือเพลง "พรานทะเล" เพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อร้องบันทึกเสียง อยู่ในชุด "พระเจ้าทั้งห้า" เป็นการรวบรวมผลงานเพลงที่ท่านบันทึกเสียงในช่วงปลายชีวิต บางเพลงก็อัดไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เพลงอีกส่วนหนึ่งท่านบันทึกใหม่ พร้อมด้วยเพลงสำคัญที่สุดคือเพลง "พระเจ้าทั้งห้า" เพลงนี้ครูเอื้อของให้ครูสุรัจ พุกกะเวส ประพันธ์คำร้องโดยบอกความประสงค์เป็นแนวในการใส่คำร้องและบันทึกเทปไว้ให้ ทางวงดนตรีและลูกศิษย์ถือกันว่าเป็นเพลงประจำตัวครูเอื้อ ระหว่างการบันทึกเสียงร้อง ครูเอื้อต้องพักเป็นระยะๆ เพราะมะเร็งลุกลามถึงขั้นสุดท้าย ทำให้หายใจลำบาก ต้องใช้วิธีตัดต่อเสียงทั้งเพลง แต่ท่านก็ร้องได้จนจบ "คลอด" เสียงไวโอลินที่ไพเราะ "กินใจ"ได้อารมณ์ที่สุด กล่าวกันว่าเรียกน้ำตาจากผู้ใกล้ชิดครูเอื้อได้ทุกครั้งที่ได้ยิน

           ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2523 เป็นต้นมา อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2524 ท่านก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบ รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ.2523-2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี คุณอติพร เสนาะวงศ์ บุตรี เป็นผู้รับแทน

          เกียรติคุณที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอชื่อ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ต่อองค์การ
ยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีครูเอื้อ เพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2552กระทรวงวัฒนธรรมได้รับแจ้งจากผู้แทนไทยประจำ
ยูเนสโกว่า จากการกลั่นกรองคัดเลือกบุคคลสำคัญของโลก 5 สาขา คือ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2552 ได้เห็นชอบให้ครูเอื้อ สุนทรสนานเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยจะมีมติรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 35 ในเดือนตุลาคม
ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และประเทศไทยจะจัดงานเฉลิมฉลองในวันที่ 21 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 100 ปี จนถึง วันที่ 21 มกราคม 2554

เอกสารอ้างอิง:

วินิดา ดิถียนต์. รศ.ดร. คุณหญิง. 21 มกราคม 2558 ครบรอบ 105 ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน [ออนไลน์].
             แหล่งที่มา https://pantip.com/topic/33133559 [4 สิงหาคม 2567].

| BACK_1 | BACK 2|

You are visitor number Visit counter For Websites Since 5 August 2024

 

 

.