เรื่องราวเกี่ยวกับเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย

เรียบเรียงโดย โสภณ จาเลิศ

          ผมเองชอบฟังเพลงเก่า ๆ พอดีไปเจอเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย บน Youtube ก็เลยสนใจ เพลงนี้
เป็นเพลง ลูกทุ่งที่อมตะ จากผลงานการแต่งของครูไพบูลย์ บุตรขัน ซึ่งแต่งไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 (ผมอายุได้
6 ขวบ) ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข


          เพลง กลิ่นโคลนสาบควาย เป็นเพลงที่ดัง แต่ถูกสั่งห้ามเปิดออกอากาศ สมัยที่ จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม
เป็นนายกรัฐมนตรี

          ป้านิก. [ออนไลน์] กล่าวถึงเพลงนี้ว่า เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขันเมื่อ พ.ศ 2496
ซึ่งเป็นช่วงเกิดกบฏทางการเมืองเนื้อเพลงที่กล่าวถึงชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ..เพลงนี้เป็นเพลงที่ขายดี
ที่สุดแห่งยุคคือสามารถขายแผ่นเสียงได้ถึง 5,000 แผ่นใน 1 สัปดาห์จนกระทั่งบริษัทดีดูเปอร์ยอนสตัน ประเทศ
เยอรมนี ต้องเข้ามาตั้งบริษัทอยู่ที่สี่แยกคอกวัวพร้อมกับเครื่องปั้มแผ่นเสียงนำเข้ามาใช้จึงสามารถผลิตแผ่นได้
ทันกับความต้องการ ของตลาด ในยุคนั้นเป็นยุคภารดรภาพ คือปฏิเศษการกดขี่ เหยียดหยามทางชนชั้น เนื้อเพลง
ที่ขึ้นต้นว่า.."อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี เอาผืนนาเป็นที่ พำนักพักพิงร่างกาย.."

          ครูไพบูลย์เคยให้สัมภาษณ์ถึงแรงบัดาลใจในการแต่งเพลงๆ นี้ว่า “เราไปพูดถึงผู้หญิงว่าสวย เขียนเป็น
เพลงขึ้นมา ไปชมดอกไม้งามอะไรต่ออะไร เราลืมคนประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เรามองข้าม
เขาไป นี่คือความรู้สึก ที่อยากจะเขียนเพลงนี้ผมใส่ความรู้สึกว่า ผมเป็นชาวนาคนหนึ่งเมื่อสังคมทั่วไปยอมรับ
ว่าเป็น กระดูกสันหลังของชาติ ควรจะเหลียวแลกันบ้าง ความรู้สึกนี้ทำให้อยากเป็นตัวแทนชาวนา และเราก็
เห็นจริงว่า ชาวนามีความสำคัญจริง ๆ อันนี้ผมเก็บมาจากคำพูดของผู้นำของชาติขณะนั้น คือ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านได้กล่าวออกมาว่า ชาวนามีความสำคัญต่อประเทศชาติมากในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลัง
ของชาติ ควรจะทำนุบำรุง”

          SILPA-MAG.COM. [ออนไลน์] กล่าวถึง เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย ว่า ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้แต่ง
ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข บันทึกเสียงไว้เมื่อ พ.ศ. 2497 เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งเพลงที่สร้างชื่อให้ชาญ เย็นแข ที่ขับร้อง เพลงค่าน้ำนม ขณะที่เพลงกลิ่นโคนสาบควาย ได้รับรางวัลเพลงเกียรติยศ ในฐานะเพลงรากฐาน
ของเพลงลูกทุ่ง จากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2532

          สำหรับเหตุการณ์ถูก “สั่งห้าม” นั้น ชาญ เย็นแข ผู้ขับร้องได้กล่าวถึงเหตุการณ์นั้นบ้างในตอนหนึ่ง
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2527 ปรากฏเนื้อหาในหนังสือ “ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน” เนื้อหาส่วนหนึ่ง มีใจความว่า

          “แผ่นเสียงเพลงกลิ่นโคลนสาบควายเป็นแผ่น ที่ขายดีที่สุดในยุคนั้น เหมือนกับสมัยนี้ที่พุ่มพวง
ดวงจันทร์ ร้องเพลงสาวนาสั่งแฟน เพราะว่าสมัยก่อน เพลงไหนดังทางโรงหนังเกือบทุกโรงจะต้องซื้อไป
เปิด โรงละ 2-3 แผ่น ถึงขนาดทางร้านต้องขึ้นราคาจาก 17 บาท มาเป็น 30-40 บาท เพราะมันขายดีมาก บริษัทเรียกตัวผมไปรับรางวัล ครูไพบูลย์ได้ 5,000 บาท ผมได้ 3,000 บาท เฉพาะเพลงกลิ่นโคลนสาบควาย
เพลงเดียว

         ที่รัฐบาลห้ามเปิดเพลงนี้ เข้าใจว่าเพราะ เนื้อเพลงมันคล้าย ๆ ยุให้ชาวนากระด้างกระเดื่อง แบ่งชั้นวรรณะ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมว่ามันไม่เกี่ยว มันอยู่ที่ผู้มีอํานาจมากกว่า เพราะพอดังขึ้นมาก็ไม่ให้เผยแพร่อยู่พักหนึ่ง พอสิ้น
รัฐบาลชุดนั้นก็เปิดได้ ทีนี้การที่เพลงจะไปถึงผู้ฟังได้ในสมัยนั้น มันไม่ต้องไปอ้อนวอนให้สถานีวิทยุเขาเปิด เหมือนสมัยนี้ เพราะฉะนั้น พอยิ่งห้ามก็เลยยิ่ง ทําให้แผ่นขายดี

          ครูไพบูลย์แต่งเพลงนี้ได้กินใจมาก เพลงในแนวชีวิตละเอียดอ่อน ต้องครูไพบูลย์แต่ง ผมรับรองว่าใน
กรุง รัตนโกสินทร์ หาใครแต่งได้เท่าครูไพบูลย์ ไม่มีอีกแล้ว ทุกวันนี้ผมร้องเพลงตาม ห้องอาหาร ยังมีคนขอให้ร้องทุกคืน”

          ด้านไพบูลย์ บุตรขัน ผู้เขียนเพลงเคยให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ ททท. ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2512-2513 หลังผ่านไป 6-7 ปี ตั้งแต่การบันทึกเสียงเมื่อ 2496 กุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ถามว่า ที่บอกว่าอย่าดูหมิ่น
ชาวนา เหมือนดังตาสี ตรงนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกแค้นเคืองแทนชาวหรือไม่ คำตอบของครูไพบูลย์ มีว่า “ไม่เจ็บแค้นหรอกครับ มัน เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ ผมใส่ความรู้สึกว่า ผมเป็นชาวนาคนหนึ่ง เมื่อสังคมทั่วไป
ยอมรับว่าเป็นกระดูกสันหลัง ของชาติแล้วก็ควรเหลียวแลบ้าง ความรู้สึกนี้ก็ทำให้อยากจะเป็นตัวแทนของชาวนา และเราก็เห็นจริงว่า ชาวนามีความสำคัญจริง อันนี้ผมเก็บมาจากคำพูดของผู้นำชาติขณะนั้นคือ ฯพณฯ จอมพล
ป. พิบูลสงคราม ท่านได้กล่าวออกมาว่า ชาวนามีความสำคัญต่อประเทศชาติมากใน ฐานะที่เป็นกระดูกสันหลัง ควรทำนุบำรุง ผมเก็บเอาคำนี้มาเขียน”

          แต่ฝั่งชาญ เย็นแข ยังได้เล่าว่า หลัง แผ่นเสียงออกอากาศ 3 วัน ครูไพบูลย์ เรียกเขาไปบ้าน กระซิบบอกว่า “เราไปเขียนชื่อปู่ท่าน นายกฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี ปู่ท่าน
ชื่อ สี ถ้าชื่ออื่น ก็ไม่มีปัญหา…”

          เรื่องของการห้ามเปิดเพลง กลิ่นโคลนสาบควายนี้ มีกล่าวกันหลายกระแส เช่น เสมียนนารี. (ออนไลน์) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แล้วเหตุใดเพลงอมตะนี้ จึงถูก “แบน” เป็นเรื่องราวที่ชวนสับสน

          ชาญ เย็นแข ผู้ขับร้องเพลง กล่าวว่า “เพลงถูกห้ามเพราะตาสีเป็นชื่อบุพการีของจอมพล ป.” (เอนก นาวิกมูล บันทุกเรื่องนี้ไว้ในในบทความเบื้องหลังกลิ่นโคลนสาบควาย ถูกห้ามออกอากาศ, สยามรัฐรายวัน 29 สิงหาคม 2529) คำของชาญ เย็นแข กล่าว “เป็นจริงจัง” หรือกล่าว “ทีเล่นทีจริง” ถูกนำมาขยายความเพื่อ
ล้อเลียนจอมพล ป.

          หากครูไพบูลย์ กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในอีกแนวทางหนึ่ง โดยเมื่อครั้งที่ครูไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ออกอากาศ
กับกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ในรายการเพื่อนรัตติกาล สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เมื่อประมาณ พ.ศ. 2512

          “อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด ผมทราบมาโดยข้อเท็จจริง…ขอเรียนให้ทราบเสียเลย คือทางกรมโฆษณาการ
ก็มีเพลงของกรมเปิดใช้อยู่เยอะแยะ เพราะทางกรมมีวงดนตรีประจําอยู่ มีคนขอเพลงนี้ไป ทางกรมก็นําไปเปิด ทีนี้เจ้าหน้าที่ว่าเพลงของเราก็มี ก็ไม่ควรจะเปิด เลยเข้าใจผิดกันว่าห้าม ไม่ได้ห้าม เพราะสถานีอื่นก็ยังเปิด
กันทั่วไป ความจริงผู้ใหญ่ก็ชอบครับ”

          คําว่า “ผู้ใหญ่ก็ชอบ” หมายถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในช่วงที่เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” โด่งดังทั้งเนื้อหาของเพลงก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลจอมพล ป. ที่พยายามแสดงตนว่า ส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ โฆษณายกย่องอาชีพชาวนาว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” เช่นนี้จึงไม่น่าสงสัยว่า จอมพล ป. สั่ง “แบน” จริงหรือ?

          วัฒน์ วรรลยางกูร ได้รวบหลักฐานอื่นๆ เช่น คำบอกเล่าของ ประสาน ศิลป์จารุ ที่บุญเลิศ ช้างใหญ่ บันทึกไว้ในหนังสือ ไทยลูกทุ่ง และข้อเขียนของรังสี ประภากร (นามแฝง) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ ส.ป.ท. (สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย) ในหนังสือสายลมเปลี่ยนทิศ แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนแปลง บันทึกประวัติศาสตร์เพลงปฏิวัติ ให้ความเห็นเหมือนกันว่า

          “เพลงกลิ่นโคลนสาบควายถูกห้ามเปิด เพราะสถานีวิทยุ ส.ป.ท.นำไปใช้เป็นเพลงเป็นเพลงประจำ
ในสถานี”

          สถานีวิทยุ ส.ป.ท. เป็นสถานีวิทยุ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2505 ที่กรุงฮานอย เวียดนาม (ภายหลังย้ายไปตั้งที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนาน ประเทศจีน ในปีเดียวกัน) กระจายเสียงด้วยคลื่นสั้นใต้ดิน

          โดยสถานีวิทยุ ส.ป.ท. ใช้เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” เป็นเพลงปิดสถานีอยู่ระยะหนึ่ง (ขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี) เมื่อย้ายไปตั้งที่เมืองคุนหมิงได้ประมาณ 5 ปี วงซิมโฟนีของกองทัพปลดแอกจีน ช่วยบรรเลงเพลงวีรชนปฏิวัติ และภูพานปฏิวัติของจิตร ภูมิศักดิ์ แทน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ถูกสั่งห้ามเปิดด้วยประการฉะนี้ ในสมัยของจอมพล
สฤษดิ์ ธนะรัชต์

เอกสารอ้างอิง
ป้านิก. กลิ่นโคลนสาบควาย ป้านิก. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.blockdit.com/posts/5ff90f6d2b5
          4840cf4e2434d [9 กันยายน 2566].
เสมียนนารี. “กลิ่นโคลนสาบควาย” เพลงดังขายดีที่สุดแห่งยุค โดนใครสั่ง “แบน” ?. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา:           https://www.silpa-mag.com/history/article_49880 [17 กันยายน 2566].
SILPA-MAG.COM. ปากคำนักร้อง “กลิ่นโคลนสาบควาย” เพลงดังแค่ไหน หลังลือ จอมพล ป. สั่งห้าม
          ออกอากาศ. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.silpa-mag.com/culture/article_36974
          [9 กันยายน 2566].

 



         คนรุ่นอายุ 70 ปีขึ้นไป น่าจะเคยได้ยินเพลงนี้ และร้องกันได้ ผมก็เลยฝึกหัดขับร้องด้วยตนเองที่บ้าน
กับ มิดี้ คาราโอเกะ ลองฟังกันดูครับ ไม่ใช่เสียงของ ชาญ เย็นแข นะครับ เป็นเสียงของผมเอง ถึงจะเสียงไม่ดี
ไม่ไพเราะ ก็ขออภัย แต่อยากร้อง คุณพ่อ-คุณแม่ของผมก็เป็น ชาวไร่ชาวนา หาเงินส่งเสียผมให้ได้ศึกษาเล่าเรียน
จนจบมาเป็นครู เรียนเชิญคลิกที่ URL ข้างล่างนี้เลยครับ
https://www.youtube.com/watch?v=WJXRA6zTe6Q

 

เนื้อเพลง มีบางแห่งคำร้องแตกต่างกันไปบ้าง แต่ ในคอลัมน์ซ้ายมือ น่าจะถูกต้อง เพราะฟังมาจากต้นฉบับ
สำหรับในคอลัมน์ขวามือ ดูจากคำร้องใน KARAOKE แต่ก็สัมผัสใช้ได้ ร้องยังไงก็คงไม่มีถูกไม่มีผิดล่ะนะครับ

เนื้อเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย

กลิ่นโคลนสาบควาย - ชาญ เย็นแข (ต้นฉบับเดิม)

        อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี
เอาผืนนาเป็นที่พำนักพักพิงร่างกาย
ชีวิตเอยไม่เคยสบาย
ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย
ไล่ควายไถนาป่าดอน
        เหงื่อรินหยดหลั่งลงรดแผ่นดินไทย
จนผิวพรรณเกรียมไหม้แดดเผามิได้อุธรณ์
เพิงพักกายมีควายเคียงนอน
สาบควายกลิ่นโคลนเคล้าโชยอ่อน
ยามนอนหลับแล้วใฝ่ฝัน
        กลิ่นโคลนสาบควายเคล้ากายหนุ่มสาว
แห่งชาวบ้านนา
ไม่ลอยเลิศฟ้าเหมือนชาวสวรรค์
หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน
กลิ่นกระแจะจันทร์
หอมเอยผิวพรรณนั้นต่างชาวนา
        อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่าเกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคาต่างกันแต่ชีวิตชาวนา
บูชากลิ่นโคลนสาบควาย
        อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่าเกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคาต่างกันแต่ชีวิตชาวนา
บูชากลิ่นโคลนสาบควาย

เนื้อเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย

จาก เนื้อเพลงบน MIDI KARAOKE

        อย่าดูหมิ่นชาวนาเหมือนดั่งตาสี
เอาผืนนาเป็นที่พำนักพักพิงร่างกาย
ชีวิตเอยไม่เคยสบาย
ฝ่าเปลวแดดแผดร้อนแทบตาย
ไล่ควายไถนาป่าดอน
        เหงื่อรินหยดหลั่งลงรดแผ่นดินไทย
จนผิวดำเกรียมไหม้แดดเผามิได้อุธรณ์
เพิงพักกายมีควายเคียงนอน
กลิ่นโคลนสาบควายเคล้าโชยอ่อน
ยามนอนหลับแล้วใฝ่ฝัน
        กลิ่นโคลนสาบควายเคล้ากายหนุ่มสาว
แห่งชาวบ้านนา
ไม่ลอยเลิศฟ้าเหมือนชาวสวรรค์
หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน
กลิ่นกระแจะจันทร์
หอมอบผิวพรรณนั้นต่างชาวนา
        อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่าเกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคาต่างกันแต่ชีวิตชาวนา
บูชากลิ่นโคลนสาบควาย
        อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่าเกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ชีวิตคนนั้นมีราคาต่างกันแต่ชีวิตชาวนา
บูชากลิ่นโคลนสาบควาย

 

KARAOKE กลิ่นโคลนสาบควาย

 

Back

You are visitor number   Visit counter For Websites  Since 19 September 2023