การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน
โสภณ จาเลิศ *
การทำงานของคนเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นงานธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานในองค์กรต่าง ๆ
ไม่ว่าขนาดใหญ่ หรือเล็กเพียงใดคงไม่มีใครที่จะทำงานโดยลำพังแต่ผู้เดียวโดยไม่เกี่ยวข้อง
สัมพันธ์กับคนอื่น ๆ นั่นคือ คน ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ทั้งที่อาวุโสกว่าตน อ่อนอาวุโส
กว่าตน และเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในระดับเดียวกัน หรือที่มัก เรียกกันว่า "เพื่อนฝูง" หรือ
"เพือ่นร่วมงาน" หรือ "เพื่อน" มีท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า คนเราจะมีความเจริญ ก้าวหน้านั้น
นอกจากจะมีผู้ใหญ่ที่อยู่ในระดับสูง ดึงเราขึ้นไปข้างบน คนที่เป็นลูกน้อง ช่วยสนับสนุน
ดัน ให้เราขึ้นไป ยังไม่พอ เพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน หรือ เพื่อนฝูง ต้องคอยช่วยเหลือ
ประคับประคอง เมื่อเราเสียหลักหรือหกล้ม นั่นคือเราต้องมีเพื่อนที่ดีด้วย ดังคำกลอน
ที่เราเคยได้ยินกันจนคุ้นหูว่า
มีเพื่อนดีแม้เพียงหนึ่งถึงจะน้อย
ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา
เหมือนน้ำจืดบ่อน้อยด้อยราคา
ยังดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล
การใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เราต้องหาเพื่อนที่ดี และต้องเป็นเพื่อนที่ดีกับผู้อื่นด้วยคนจึง
อยากจะคบหาสมาคม อยากอยู่ใกล้ เพราะรู้สึกอบอุ่น เป็นมิตร ปลอดภัย เป็นที่พึ่ง เป็นที่
ไว้เนื้อเชื่อใจ ดังนั้น เราจึงควรรู้จัก วิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน
อันได้แก่
1. เปิดฉากทักทายติดต่อก่อน ลดทิฐิลงเสียบ้าง หัดเป็นคนรู้จักทักทายคนอื่นก่อน
เสียบ้าง
2. มีความจริงใจต่อเพื่อน
3. ไม่นินทาเพื่อนแม้ว่าจะเป็นที่ถูกใจของคู่สนทนา
4. ไม่ซัดทอดความผิดให้เพื่อน
5. ยกย่องชมเชยเพื่อนในโอกาสอันควร(ชมมากกว่าติ)
6. ให้ความช่วยเหลือกิจการงานของเพื่อนด้วยความเต็มใจ
7. ให้เพื่อนรับทราบเรื่องที่เขารับผิดชอบหรือเกี่ยวข้อง
8. หลีกเลี่ยงการทำตัวเหนือเพื่อน
9. ทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย
10. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง
11. ออกไปพบปะสังสรรค์บ้างตามโอกาสอันควร
12. ช่วยเหลือเพื่อน เป็นที่พึ่งแก่เพื่อนยามทุกข์ร้อน
13. ให้เกียรติและรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน
14. เก็บความลับของเพื่อน รักษาสัจจะ
15. แนะนำเพื่อนไปในทางที่ดี ไม่พาไปสู่ทางเสื่อม
ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงเพื่อนแท้ว่ามี 4 จำพวก คือ
จำพวกที่ 1 เพื่อนมีอุปการะ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
2. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
3. เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งได้
4. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ ออกแรง มากกว่าออกปาก
จำพวกที่ 2 เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน
2. ปิดความลับของเพื่อน
3. ไม่ละทิ้งเพื่อนยามวิบัติ
4. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้
จำพวกที่ 3 เพื่อนแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. ห้ามไม่ให้ทำชั่ว
2. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
4. บอกทางสวรรค์ให้
จำพวกที่ 4 เพื่อนมีความรักใคร่ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. เมื่อมีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
2. เมื่อมีสุขก็สุขด้วย
3. โต้เถียงคนที่ติเตียนเพื่อน
4. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน
หน้าที่ของคนที่ควรปฏิบัติต่อเพื่อน ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ประการ ได้แก่
1. การให้ปัน
2. การกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก
3. ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อน
4. ความเป็นผู้มีตนเสมอ
5. ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง
สิ่งต่าง ๆ ที่ได้เขียนไปแล้วนั้น เป็นเพียงหัวข้อย่อ ๆ มิได้ขยายความอะไรให้เยิ่นเย้อ
คิดว่าท่านผู้อ่าน จะขยายความได้ ทำให้ไม่เสียเวลาในการอ่าน และประหยัดพื้นที่ด้วย
จะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวไปทั้งหมด คงหนีไม่พ้นหลักธรรมทางพุทธศาสนา ที่เป็นธรรมอันเป็นเครื่อง
ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อื่น หรือธรรมเพื่อให้คน เป็นที่รักของคนทั่วไป คือ
สังคหวัตถุ 4 (Base of
sympathy) นั่นเอง ซึ่งได้แก่
1. ทาน (giving offering) คือการให้ เสียสละ แบ่งปันแก่ผู้อื่น
2. ปิยวาจา (Kindly speech) คือ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ นุ่มนวล เหมาะแก่บุคคล
เวลา สถานที่ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดในทางสร้างสรรค์ และเกิดกำลังใจ
3. อัตถจริยา (useful conduct) ทำตนให้เป็นประโยชน์ ตามกำลังสติปัญญา
ความรู้ความสามารถ กำลังทรัพย์ และเวลา
4. สมานัตตตา (even and equal treatment) คือทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย
วางตนเหมาะสมกับ ฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุขสม่ำเสมอ
หลักธรรมที่กล่าวมานี้ หากผู้ใดยึดถือปฏิบัติเชื่อแน่ว่าจะเป็นที่รักใคร่เคารพนับถือ
ของเพื่อนร่วมงาน และบุคคลทั่วไป คนไทยเรานั้น มักชอบจดจำถ้อยคำที่คล้องจองกัน
จึงใคร่ขอเสนอคำที่จะทำให้จำได้ง่ายและเป็นคาถาสำหรับทำให้ตนเองเป็นที่รักใคร่
ของบุคคลทั่วไป คือ เราควรจะเป็นคนที่
โอบอ้อมอารี (ทาน)
วจีไพเราะ (ปิยวาจา)
สงเคราะห์ปวงชน (อัตถจริยา)
วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา)
เมื่อท่านอ่านแล้ว
กรุณาประเมินความพึงพอใจจากการอ่านเรื่องนี้ด้วย
จะเป็นพระคุณยิ่ง คลิกที่นี่ทำแบบประเมินครับ
drsophonj@gmail.com
เอกสารอ้างอิง
เขมกะ. หน้าที่ของคน. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ธรรมชาติ, 2529.
วิจิตร อาวะกุล, รศ.. เทคนิคมนุษยสัมพันธ์. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: O.S. Printing House Co. Ltd., ม.ป.ป.
โสภณ จาเลิศ. "หลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ตามสถานภาพทางสังคม ตอน 2" ใน ก้าวไกลไปกับ สบช. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2
ประจำเดือน มีนาคม 2541 หน้า 16 - 17.
อนันต์ งามสะอาด. เอกสารประกอบการสอนวิชา มนุษยสัมพันธ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิทักษ์อักษร, ม.ป.ป.
* อาจารย์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง (เกษียณฯ พ.ศ.2551)